เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า วาจาส่อเสียด ในคำว่า ปราศจากวาจาส่อเสียด อธิบายว่า คนบางคน
ในโลกนี้เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด... บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยความประสงค์
ให้เขาแตกกัน วาจาส่อเสียดนี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ
ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ปราศจาก
วาจาส่อเสียด คือ หมดวาจาส่อเสียดแล้ว รวมความว่า ไม่มีความหลอกลวง
ปราศจากวาจาส่อเสียด
คำว่า ไม่โกรธ ในคำว่า มุนี...ไม่โกรธ ข้ามพ้นความโลภอันชั่วและความ
หวงแหนได้แล้ว อธิบายว่า กล่าวไว้แล้วแล อนึ่ง ควรกล่าวถึงความโกรธก่อน
ความโกรธย่อมเกิดได้เพราะเหตุ 10 อย่าง1... ความโกรธนั้นผู้ใดละได้แล้ว
ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือ
ญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่โกรธ
บุคคลชื่อว่าผู้ไม่โกรธ เพราะละความโกรธได้แล้ว
บุคคลชื่อว่าผู้ไม่โกรธ เพราะกำหนดรู้วัตถุแห่งความโกรธได้แล้ว
บุคคลชื่อว่าผู้ไม่โกรธ เพราะตัดเหตุแห่งความโกรธได้แล้ว
คำว่า ความโลภ ได้แก่ ความโลภ กิริยาที่โลภ ภาวะที่โลภ... อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ
มัจฉริยะ 5 อย่าง คือ (1) อาวาสมัจฉริยะ... ความมุ่งแต่จะได้ ตรัสเรียกว่า
ความตระหนี่2
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด...
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี
คำว่า มุนี...ไม่โกรธ ข้ามพ้นความโลภอันชั่วและความหวงแหนได้แล้ว
อธิบายว่า มุนี ข้ามได้แล้ว คือ ข้ามไปได้แล้ว ข้ามพ้นแล้ว ก้าวล่วงแล้ว ก้าวล่วง
ด้วยดี ล่วงเลยแล้วซึ่งความโลภอันชั่วและความหวงแหนได้แล้ว รวมความว่า

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 85/252
2 ดูรายละเอียดข้อ 44/155

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :503 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
มุนี...ไม่โกรธ ข้ามพ้นความโลภอันชั่วและความหวงแหนได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีความหลอกลวง
ปราศจากวาจาส่อเสียด ไม่โกรธ ข้ามพ้นความโลภอันชั่ว
และความหวงแหนได้แล้ว
[177] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นรชนพึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน
ความย่อท้อ ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น พึงน้อมใจไปในนิพพาน

ว่าด้วยความเกียจคร้าน
คำว่า พึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ อธิบายว่า
คำว่า ความหลับ ได้แก่ ความที่กายไม่คล่องแคล่ว ความที่กายไม่ควรแก่การ
งาน อาการหยุด อาการพัก อาการพักผ่อนภายใน ความง่วง ภาวะที่หลับ อาการ
สัปหงก ความหลับ กิริยาที่หลับ ภาวะที่หลับ
คำว่า ความเกียจคร้าน ได้แก่ ความเกียจคร้าน กิริยาที่เกียจคร้าน ภาวะที่
เกียจคร้าน ความเป็นผู้มีใจเกียจคร้าน ความขี้เกียจ กิริยาที่ขี้เกียจ ภาวะที่ขี้เกียจ
คำว่า ความย่อท้อ ได้แก่ ความที่จิตไม่คล่องแคล่ว ความที่จิตไม่ควรแก่การงาน
ความหดหู่ กิริยาที่หดหู่ ความท้อถอย กิริยาที่ท้อถอย ภาวะที่ท้อถอย ความย่อท้อ
กิริยาที่ย่อท้อ ความเป็นผู้มีจิตย่อท้อ
คำว่า พึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ อธิบายว่า
พึงควบคุม คือ ครอบครอง ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีความหลับ
ความเกียจคร้านและความย่อท้อ รวมความว่า พึงควบคุมความหลับ ความ
เกียจคร้าน ความย่อท้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :504 }